โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

Last updated: 17 พ.ย. 2566  |  1065 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

ในวัยสูงอายุ นอกจากไขข้อตามร่างกายจะเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้เลยก็คือดวงตา
เพราะดวงตาถือว่าเป็นส่วนสำคัญของร่างกายที่ใช้ในการใช้ชีวิตประวัน และโรคดวงตาที่มักพบมากในวัยนี้มีอะไรบ้าง มาดูกันได้เลย


1.สายตายาวเนื่องจากอายุ

สายตายาวเนื่องจากอายุไม่ใช่ภาวะโดยกำเนิด  แต่เป็นการเสื่อมสภาพของดวงตาตามอายุ มักเกิดกับทุกคนที่อายุตั้งแต่ 40-45 ปีขึ้นไป  สาเหตุเกิดจากเลนส์ตาเริ่มเสียความยืดหยุ่น ร่วมกับกำลังของ กล้ามเนื้อรอบเลนส์ตามีความแข็งแรงลดลง  เป็นผลให้ไม่สามารถปรับรูปร่างของเลนส์ตาให้สามารถโฟกัสรวมแสงจากการมองเห็นให้ตกกระทบระยะที่พอดีคือที่จอประสาทตาได้  การรักษาทำได้หลายวิธี เช่น การสวมแว่นสายตายาว  ใส่คอนแทคเลนส์  ทำเลเซอร์กระจกตา  การรักษาด้วยคลื่นวิทยุ เป็นต้น  


2.ต้อกระจก

เป็นโรคตาที่พบได้บ่อยอีกโรคหนึ่ง เกิดจากเลนส์ตามีความเสื่อมตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น เลนส์ตาเริ่มเสียความยืดหยุ่นและมีสภาพขุ่นขึ้น ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน เริ่มสูญเสียการมองเห็นโดยจะเร็วหรือช้า มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นฝ้าในเนื้อเลนส์ ถ้าเป็นต้อกระจกบริเวณขอบรอบนอก ผู้ป่วยจะยังมีสายตาที่คมชัดเป็นปกติ แต่ถ้าเป็นบริเวณตรงกลางเนื้อเลนส์จะรบกวนสายตามาก อาการที่พบได้บ่อยของต้อกระจก ได้แก่ สายตามัวหรือเห็นภาพซ้อน จะมัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง ตาสู้แสงไม่ได้ ทำให้มีปัญหาในการขับขี่ยานพาหนะโดยเฉพาะกลางคืน เห็นสีผิดไปจากเดิม ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย ๆ ต้อกระจกบางชนิดทำให้สายตาสั้นมากขึ้นได้


3.น้ำวุ้นตาเสื่อม


เกิดจากน้ำในลูกตาที่มีลักษณะเป็นเจลหนืดใสเหมือนวุ้นเกิดการเสื่อมสภาพตามวัยและตกตะกอน  ทำให้มองเห็นตะกอนเป็นเงาดำจุดเล็ก ๆ เป็นเส้น ๆ วง ๆ หรือคล้ายหยากไย่ลอยไปมา อาจเคลื่อนที่ได้ตามการกลอกลูกตา  ส่วนใหญ่แล้วโรคนี้ไม่มีอันตรายเนื่องจากเป็นความเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัยตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามอาจมีส่วนน้อยที่เกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงโดยมีการฉีกขาดของจอประสาทตา  ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของน้ำวุ้นตรงบริเวณหน้าจอประสาทตาและดึงรั้งจอประสาทตาให้หลุดออกหรือฉีกขาด ผู้ที่มีอาการดังกล่าวจะเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูปเนื่องจากการหลุดหรือฉีกขาดของจอประสาทตานั้นไปกระตุ้นเส้นประสาทตาทำให้เห็นเป็นแสงลักษณะฟ้าแลบนั่นเอง การหลุดหรือฉีกขาดของจอประสาทตาเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วน หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวรได้  ดังนั้นผู้ที่มีภาวะน้ำวุ้นในตาเสื่อมนี้ควรได้รับการตรวจตาเป็นระยะเพื่อเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอและรักษาได้ทันท่วงทีหากพบอาการแทรกซ้อนหรือการฉีกขาดของจอประสาทตาดังกล่าว  ภาวะวุ้นในลูกตาเสื่อมนี้พบได้บ่อยในคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบผู้ที่เป็นโรคนี้มีอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อย ๆ 


4.โรคจอประสาทตาเสื่อม

สาเหตุเกิดจากจุดรับภาพชัดที่อยู่บริเวณกลางจอประสาทตาเกิดการเสื่อม  ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามวัย โดยพบมากในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป  โดยอาจมีปัจจัยส่งเสริมหรือเป็นตัวเร่งให้เกิดเร็วขึ้น ได้แก่ พันธุกรรม การสูบบุหรี่  การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงจ้าเป็นประจำ  การเป็นโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง เป็นต้น โรคนี้มีความร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นถาวรได้ จุดรับภาพชัดเป็นบริเวณหนึ่งที่อยู่ตรงกลางของจอประสาทตาและเป็นจุดที่แสงรวมตกกระทบที่จุดนี้ ทำให้เรามองเห็นภาพได้ชัดเจน อาการของโรคนี้คือ มองภาพไม่ชัด มองเห็นบิดเบี้ยว ตาพร่ามัว มีจุดดำหรือเงาดำตรงกลางภาพสายตา ผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมนี้จะมีการสูญเสียการมองเห็นอย่างช้าๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ถึงกับสูญเสียการมองเห็น 100% โดยสมบูรณ์ แต่มักสูญเสียการมองเห็นเฉพาะส่วนตรงกลางภาพ และยังคงเห็นขอบของภาพได้ปกติ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้  อย่างไรก็ดีผู้ที่เป็นโรคนี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษากับจักษุแพทย์โดยเร็ว  เพื่อชะลอหรือยับยั้งการดำเนินโรคไม่ให้เป็นมากขึ้น  การตรวจสุขภาพตาสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ลงได้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้