Last updated: 17 ก.พ. 2566 | 817 จำนวนผู้เข้าชม |
โคลอสตรุ้ม (Colostrum)
รู้จักโคลอสตรุ้ม
โคลอสตรุ้ม คือ น้ำนมแรกที่ได้จากมารดาเฉพาะในระหว่าง 2-3 วันแรกหลังคลอดทารก นอกจากมนุษย์แล้วยังพบโคลอสตรุ้มได้ในน้ำนมแม่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด โคลอสตรุ้มมีความพิเศษแตกต่างจากน้ำนมปกติโดยที่นอกจากจะมีสารอาหารเช่นเดียวกับในน้ำนมปกติทั่วไปแล้ว ยังอุดมไปด้วยเอนไซม์(Enzyme), สารกระตุ้นการเติบโต(Growth Factors เช่น IGF-1, TGF-Alpha, TGF-Beta), สาร Alpha-Lactobumin ที่จำเป็นต่อพัฒนาการของระบบประสาทและสมอง, และภูมิคุ้มกัน(Antibodies)ต่างๆหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิมมูโนโกลบูลิน(Immunoglobulins), แล็กโตเฟอร์ริน(Lactoferrin) และ Tumor Necrosis Factor(TNF) สารเหล่านี้ล้วนจำเป็นและสำคัญยิ่งในการกระตุ้นการเจริญเติบโต การเจริญของระบบประสาทสมอง และเสริมระบบภูมิคุ้มกันสำหรับทารกแรกคลอดซึ่งระบบย่อยอาหารและระบบสร้างภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่เต็มที่
ในส่วนของสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตนั้น โคลอสตรุ้มอุดมไปด้วยสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต กรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีโปรตีนปริมาณสูงกว่าน้ำนมปกติทั่วไปถึง 2.5 เท่า จึงเป็นอาหารแรกที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสำหรับการเจริญเติบโตของทารก
โคลอสตรุ้ม ( Colostrum ) บรรเทาอาการท้องเสีย
เนื่องจากโคลอสตรุ้มมีสารภูมิคุ้มกัน(Antibodies)อยู่หลายชนิดและมีปริมาณสูงกว่าน้ำนมปกติทั่วไปเป็นร้อยเท่า จึงอาจช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ต่อโรคติดเชื้อต่างๆได้ การศึกษาแบบ Meta-analysis เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีการศึกษาแบบแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ(Randomized-Controlled Trials-RCT)การใช้โคลอสตรุ้มรักษาอาการท้องเสียจากการติดเชื้อในเด็กจำนวน 5 การศึกษา พบว่าโคลอสตรุ้มช่วยบรรเทาอาการท้องเสียจากสาเหตุดังกล่าวได้ โดยสามารถลดการเกิดอาการท้องเสียลง 71% และลดจำนวนครั้งของการถ่ายได้เฉลี่ย 1.42 ครั้งต่อวัน
อีกการศึกษาหนึ่งแบบแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ(Randomized-Controlled Trials-RCT)ทำในเด็กจำนวน 160 คนที่มีอาการท้องเสียจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียชนิดต่างๆ ก็ให้ผลคล้ายกับการศึกษาแรก โดยผลของการศึกษาชี้ว่าโคลอสตรุ้มช่วยทำให้อาการท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสดีขึ้น สามารถลดความรุนแรงและจำนวนครั้งที่ถ่าย รวมถึงอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย จากตัวอย่างผลการศึกษาข้างต้นโคลอสตรุ้มจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากในการใช้รักษาอาการท้องเสียที่มีสาเหตุจากการติตเชื้อได้
ผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง(HIV/AIDS)
จากการที่โคลอสตรุ้มมีสารภูมิคุ้มกัน(Antibodies)หลายชนิดและปริมาณสูงกว่าน้ำนมปกติ จึงไม่เพียงรักษาอาการท้องเสียติดเชื้อในทางเดินอาหารในบุคคลทั่วไปเท่านั้น แม้ในผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติก็ได้รับประโยชน์จากสารภูมิคุ้มกันในโคลอสตรุ้มด้วย มีการศึกษาหลายชิ้นที่ยืนยันว่าโคลอสตรุ้มสามารถบรรเทาหรือรักษาอาการท้องเสียในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ผลดีเช่นกัน
การศึกษาหนึ่ง อาสาสมัครผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่มีอาการท้องเสียจากโรงพยาบาลกูลู(Gulu Hospital)และจากคลีนิกชุมชน 4 แห่งในภาคเหนือของประเทศอูกันดาจำนวน 87 คน จับฉลากแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลองได้รับโคลอสตรุ้ม 50 กรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ร่วมกับการรักษาอาการท้องเสียตามมาตรฐาน ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการรักษาอาการท้องเสียตามมาตรฐานเพียงอย่างเดียว ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโคลอสตรุ้มช่วยลดความถี่ของอาการท้องเสีย ลดอาการอ่อนล้า(Fatigue) และช่วยเพิ่มเม็ดเลือดชนิด CD4 เพิ่มมากขึ้นมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม จากผลการศึกษาดังกล่าวเราจึงอาจพิจารณาเสริมโคลอสตรุ้มเพื่อรักษาอาการท้องเสียในผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่มีภูมิต้านทานต่ำอีกด้วย
โคลอสตรุ้มช่วยลดอาการป่วยและอาจช่วยป้องกันไข้หวัดและโรคทางเดินหายใจส่วนบน(Upper Respiratory Illness – URI)
การศึกษาที่ยืนยันผลของโคลอสตรุ้มในการลดอาการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจส่วนบน ทำการศึกษาในอาสาสมัครชายที่มีการออกกำลังกายระดับหนักมากจำนวน 53 คนเข้าร่วมการศึกษาในช่วงฤดูหนาวเป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลองได้รับโคลอสตรุ้ม 20 กรัมต่อวัน ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอก(placebo) มีการตรวจหาจำนวนเชื้อในน้ำลายด้วยการทำ real-time PCR เพื่อช่วยยืนยัน จากผลการศึกษาพบว่ากลุ่มทดลอง(กลุ่มโคลอสตรุ้ม)มีอัตราการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจส่วนบนและจำนวนวันที่ป่วยน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ผลการตรวจเชื้อในน้ำลายพบว่ากลุ่มควบคุม(กลุ่มยาหลอก)พบจำนวนเชื้อแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้นตลอดระยะเวลาศึกษา 12 สัปดาห์ ในขณะที่กลุ่มทดลอง(กลุ่มโคลอสตรุ้ม)ไม่เห็นการเพิ่มจำนวนเชื้อแบคทีเรียชัดเจน และสรุปผลการศึกษาได้ว่าโคลอสตรุ้มช่วยเพิ่มภูมิต้านทานต่อโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้
โคลอสตรุ้มช่วยลดน้ำตาลและไขมันในเลือดในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประชากรคนไทย จากข้อมูลปี 2564 คนไทยเป็นโรคเบาหวานถึง 6 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี โรคเบาหวานแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เบาหวานประเภทที่ 1 (Type I Diabetic Mellitus) มีสาเหตุจากตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ(ฮอร์โมนอินซูลินทำหน้าที่ขนส่งน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพื่อให้เซลล์ร่างกายใช้เป็นพลังงาน) และเบาหวานประเภทที่ 2 (Type II Diabetic Mellitus) มีสาเหตุจากตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ แต่เซลล์ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ทำลายอวัยวะสำคัญปลายทาง ได้แก่ ตา ปลายมือปลายเท้า สมองเสื่อม ไตเสื่อม และเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเรื้อรังที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี จะเกิดผลแทรกซ้อนกับอวัยวะปลายทางดังกล่าว นำมาซึ่งความพิการและเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งนี้โคลอสตรุ้มเป็นสารอาหารที่มีข้อมูลการศึกษาว่าอาจมีประโยชน์กับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงได้
การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำในอาสาสมัครทั้งเพศหญิงและชายที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2(Type II Diabetic Mellitus)จำนวนหนึ่ง โดยอาสาสมัครได้รับโคลอสตรุ้มวันละ 10 กรัมนาน 4 สัปดาห์ มีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด, คลอเลสเตอรอลรวม, ไขมัน Triglyceride ผลการศึกษาพบว่าหลังรับประทานอาหารไปแล้ว 2 และ 8 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 4 สัปดาห์ คลอเลสเตอรอลรวมและไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังครบ 4 สัปดาห์เช่นกัน จากตัวอย่างผลการศึกษานี้โคลอสตรุ้มจึงมีประโยชน์ในการช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนเลวร้ายของอวัยวะสำคัญปลายทาง รวมถึงอาจมีประโยชน์ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่ไขมันในเลือดสูงได้อีกด้วย
โคลอสตรุ้มเพิ่มการสร้างกล้ามเนื้อในผู้ที่ออกกำลังกาย
ในโคลอสตรุ้มประกอบด้วยสารกระตุ้นการเติบโต หรือ Growth Factors หลายชนิด เช่น IGF-1, TGF-Alpha, TGF-Beta เป็นต้น คาดหมายว่าสารกระตุ้นเหล่านี้อาจส่งผลดีโดยออกฤทธิ์กระตุ้นการเติบโตของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ได้ มีการศึกษาการใช้โคลอสตรุ้มในผู้ที่ออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน(resistance training)จำนวน 49 คน นาน 3 เดือน พบว่าโคลอสตรุ้มทำให้มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น โดยไม่มีผลและไม่เพิ่มมวลไขมันในร่างกาย ดังนั้นนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายจึงอาจรับประทานโคลอสตรุ้มเพื่อเสริมความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อได้
ใครบ้างที่เหมาะกับโคลอสตรุ้ม
โดยคุณสมบัติของสารออกฤทธิ์สำคัญที่มีอยู่โคลอสตรุ้ม 5 ประเภท ได้แก่ สารอาหารที่มีคุณค่าสูงและจำเป็นต่อชีวิต(Super Nutrients), สารภูมิคุ้มกันหลายชนิด(Antibodies), สารกระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกายและระบบประสาทสมอง(Growth Factor), สารช่วยเร่งปฏิกริยาให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ(Enzyme), และสารให้พลังงาน โคลอสตรุ้มจึงมีประโยชน์หลากหลาย ผู้ที่เหมาะกับโคลอสตรุ้ม ได้แก่
- ผู้ที่ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เช่น เจ็บป่วยบ่อย ไม่สบายง่าย มักป่วยเป็นเวลานาน เป็นหวัดหรือติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย ผู้ที่ขาดสารอาหารหรือรับประทานอาหารไม่สมดุล ผู้ที่นิยมรับประทานเนื้อสัตว์ ไม่ค่อยทานผักผลไม้
- ผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง(HIV/AIDs)
- ผู้ที่ทางเดินอาหารและระบบขับถ่ายทำงานไม่ปกติ เช่น มีอาการลำไส้อักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน ผู้ที่มีอาการท้องเสียง่าย ฯลฯ
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type II Diabetic Mellitus) โดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี
- ผู้ที่ไขมันชนิดคลอเลสเตอรอลรวม หรือไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และควบคุมไม่ได้
- นักกีฬา ผู้ที่ออกกำลังกาย ผู้ที่เล่นกล้าม หรือต้องการเน้นความแข็งแรงและเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ
- ผู้ที่ต้องการเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย
ความปลอดภัยและขนาดการใช้
ปกติแล้วผลิตภัณฑ์เสริมโคลอสตรุ้มมีความปลอดภัย ขนาดรับประทานโดยทั่วไปวันละ 10-30 กรัม สามารถรับประทานต่อเนื่องนาน 2-3 เดือน
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโคลอสตรุ้ม สอบถามเพิ่มเติมที่ :
Line official : @VITAMATECLUB
เอกสารอ้างอิง
1. Bovine Colostrum in the Treatment of Acute Diarrhea in Children: A Double-Blinded Randomized Controlled Trial (J Trop Pediatr. 2020 Feb 1;66(1):46-55.)
2. Effect of bovine colostrum-based food supplement in the treatment of HIV-associated diarrhea in Northern Uganda: a randomized controlled trial (Indian J Gastroenterol. 2011 Dec;30(6):270-6.)
3. Effects of bovine colostrum supplementation on upper respiratory illness in active males (Brain Behav Immun. 2014 Jul;39:194-203.)
4. Health-promoting effects of bovine colostrum in Type 2 diabetic patients can reduce blood glucose, cholesterol, triglyceride and ketones (J Nutr Biochem. 2009 Apr;20(4):298-303.)
5. Impact of differing protein sources and a creatine containing nutritional formula after 12 weeks of resistance training (Nutrition
. 2007 Sep;23(9):647-56.)
6. Effect of bovine colostrum supplementation on the composition of resistance trained and untrained limbs in healthy young men (Eur J Appl Physiol. 2004 Jan;91(1):53-60.)